17959 จำนวนผู้เข้าชม |
ถ้านับตามปฏิทินจันทรคติ เมื่อวนมาถึง วันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ก็จะเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่สำคัญของชาวจีน ซึ่งทางรัฐบาลจีนได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันหยุดราชการด้วยครับ เทศกาลนั้นก็คือ เทศกาลตวนอู่ หรือที่คนไทยเรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า วันไหว้บะจ่าง ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือน มิถุนายน หรือกรกฏาคม ของทุกๆปีครับ
บะจ่าง คือสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้สำหรับเทศกาลนี้เลยทีเดียวครับ ในเมืองไทยบะจ่างเรามีมากมายหลากหลายรสชาติ แต่ละร้านค้าก็จะมีสูตรและเครื่องที่แตกต่างกันไป บางเจ้าใส่เครื่องมากกว่า 10 ชนิดเลยทีเดียวครับ แต่ว่าเมื่อมองย้อนไปที่ประเทศต้นตำหรับ บะจ่างในประเทศจีน เป็นบะจ่างที่เรียบง่ายมากครับ บางชนิดเป็นไส้หวานใส่แค่พุทราแดงและถั่วลิสง บางชนิดมีไส้ถั่วเขียวบดกับถั่วลิสง แค่นั้นเองครับ บางเจ้าหรูหราขึ้นมาหน่อยก็จะมีการเติมไข่แดงลงไปครับ และประเพณีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับเทศกาลนี้ก็คือการแข่งเรือมังกรครับ (คิดง่ายๆ เหมือนกับแข่งเรือของบ้านเราแหละครับ แต่ตกแต่งหัวเรือเป็นรูปมังกรครับ)
ส่วนที่มาของเทศกาลตวนอู่ เริ่มขึ้นมาตั้งแต่สมัยชุนชิว (ยุคก่อนปีคริสตศักราช 229) ในแคว้นฉู่ มีขุนนางที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งชื่อ ชวี เอวี๋ยน ได้พยายามกราบเรียนกษัตริย์ให้ปกครองประเทศให้ดี เพื่อที่จะไม่โดนรุกรานจากแคว้นอื่น แต่กษัตริย์หาได้สนใจไม่ สุดท้ายแล้ว จึงแพ้สงครามแก่แคว้นฉิน และขุนนางตงฉินคนนี้ ก็ได้เศร้าโศกเสียใจเหลือคณานับ จึงได้ กระโดดน้ำปลิดชีวิตตัวเอง เนื่องจากท้อแท้ใจที่ไม่สามารถช่วยเหลือแคว้นของตนเองได้
ด้วยความที่ขุนนางชวี เอวี๋ยนเป็นคนดีมาก และเป็นที่รักใคร่ของประชาชน ทุกคนจึงช่วยกันงมหา แต่ไม่มีใครสามารถงมหาร่างกายของชวี เอวี๋ยนได้เลย ดังนั้นชาวบ้านทุกคนจึงร่วมใจกันโปรยเมล็ดข้าวและธัญพืชต่าง ๆ ลงไปในน้ำ เพื่อที่จะให้กุ้ง หอย ปู ปลามากินสิ่งเหล่านี้แทนที่จะไปกินศพของชวี เอวี๋ยน และได้มีการพายเรือเพื่อกระทุ้งน้ำ ให้สัตว์น้ำต่าง ๆ หลีกหนีไป
และพอเรื่องราวผ่านยุค ผ่านสมัยมาเรื่อย ๆ ประเทศจีนได้พบเจอกับพิบัติภัยต่าง ๆ นานา ๆ เพื่อเป็นการไม่สิ้นเปลือง ประเพณีการโยนลงน้ำ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นห่อในใบไผ่ และนำไปเซ่นไหว้แทนครับ หลังจากนั้นก็เสร็จอาตี๋ อาหมวย คนในบ้านอย่างเรา ๆ นี่แหละครับ แต่ก็ยังมีคำสอนที่แฝงมากับข้าวเหนียวใบไผ่นี่อยู่เสมอ ๆ ว่า “อย่าลืมรักษาความจงรักภักดีที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าพึงมีต่อประเทศชาติให้สืบต่อไป”
นี่แหละครับเรื่องเล่า และประวัติความเป็นมาของเทศกาลตวนอู่ หรือเทศกาลไหว้บะจ่าง นั่นเองครับ